วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ซ้อมเตือนภัยสึนามิชาวบ้านระนองไม่มั่นใจเสียงเตือนภัยดังมั่ว

จังหวัดระนองซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิ ซึ่งมีชุมชนที่ติดตั้งระบบเตือนภัยเข้าร่วมฝึกซ้อม จำนวน 13 แห่ง


นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กำหนดฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิ ในวันที่ 13 กันยายน 2553 ระหว่างเวลา 09.30-11.00 น. ซึ่งจังหวัดระนองได้มีการประชุมซักซ้อมความเข้าใจให้แก่ชุมชนต่าง ๆ จำนวน 13 ชุมชน ใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง ประกอบด้วย บ้านเกาะทรายดำหน้านอก หมู่ที่ 1 ตำบลหงาว , บริเวณหาดอ่าวใหญ่ บ้านเกาะพยาม หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม , บริเวณวัดป่าเกาะช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะพยาม , บ้านปากคลอง หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ , โรงเรียนบ้านเกาะคณฑี หมู่ที่ 2 ตำบลปากน้ำ อำเภอกะเปอร์ บ้านบางเบน หมู่ที่ 2 , 4 ตำบลม่วงกลวง อำเภอสุขสำราญ บ้านบางมัน หมู่ที่ 1 ตำบลนาคา , บ้านแหลมนาว หมู่ที่ 6 ตำบลนาคา , ท่าเรือบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา , บ้านทะเลนอก หมู่ที่ 1 ตำบลกำพวน , บ้านทับเหนือหาดประพาส หมู่ที่ 2 ตำบลกำพวน , บ้านหาดทรายขาว หมู่ที่ 7 ตำบลกำพวน , ท่าเรือบ้านท่ากลาง หมู่ที่ 4 ตำบลกำพวน โดยจังหวัดระนองได้กำหนดจุดหลักในการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบที่บ้านบางเบน หมู่ 2 ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมประมาณ 1,500 คน ส่วนจุดอื่น ๆ จะมีตัวแทนของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง และส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายร่วมสังเกตการณ์ด้วย จึงขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญด้วยการเข้าร่วมฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้ด้วย

นายชาสันต์ คงเรือง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดระนองมีพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ ได้รับการติดตั้งหอเตือนภัยแล้ว จำนวน 13 แห่ง รวม 3 อำเภอ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยสึนามิเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทุกแห่ง จึงให้จังหวัดระนองดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ในการติดตั้งระบบเตือนภัย อาคารอพยพหลบภัยสึนามิ และเส้นทางอพยพหลบภัยสึนามิ ปีงบประมาณ 2554 จำนวน 44 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของสำนักนายกรัฐมนตรี

นายกำพล จันทรชู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงกลวง กล่าวว่า การฝึกซ้อมอพยพหลบภัยสึนามิในครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่มาก ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว หน่วยงานในพื้นที่และประชาชนพร้อมเข้าร่วมฝึกซ้อม เนื่องจากตำบลม่วงกลวง อ.กะเปอร์ มีพื้นที่เสี่ยงภัย 2 หมู่บ้านคือ บ้านบางเบนและบ้านอ่าวเคย ซึ่งเมื่อครั้งเกิดสึนามิ ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินได้รับความเสียหายด้วย..////

สำหรับความมั่นใจของชาวบ้านในการซ้อมครั้งนี้หลายๆคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ค่อยจะมีความมั่นใจ เพราะปัญหาที่สำคัญคือความดังของเสียงที่ดังไม่ทั่วถึงแต่ในการฝึกซ้อมวันนี้ทาง ศูนย์เตือนภัยฯจังหวัดระนองได้ขอความร่วมมือกับผู้นำหมู่บ้านในการเชื่อมสัญญาณกับหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงปัญหาตรงส่วนนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร

และปัญหาอีกข้อหนึ่งคือระบบเตือนภัยซึ่งส่งมาจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีปัญหาคือ หลังจากข้อความสุดท้ายที่แจ้งว่าสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว แต่อีก 10 นาทีต่อมากลับมีข้อความว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและมีโอกาศเกิดสึนามิขอให้ประชาชนอพยพขึ้นที่สูงหรือให้ออกห่างจากชายหาด ทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นอีก 2 ครั้งว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงหรือเป็นการซ้อมกันแน่ และหลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าปัญหาเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดปัญหาการ “รีรันเออร์เรอร์” ( Rerun Error )./////

****สัมภาษณ์ชาวบ้าน****

นางทานิด ปลื้มจิตต์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 47/1 กล่าวว่า ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 150 ครัวเรือน ใน ม.4 ยังมีความรู้สึกกังวลใจในเรื่องหอเตือนภัยอยู่มาก เนื่องจากทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อมีการซ้อมหนีภัยสึนามิ ปัญหาที่เกิดจากหอเตือนภัยที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแหลมสน คือเรื่องเสียง โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ห่างจากเสาตั้งแต่ครึ่งกิโลเมตรจนถึงหนึ่งกิโลเมตรจะไม่ได้ยินเสียงเตือน ทุกครั้งที่มีการซ้อมจึงต้อง นำหวอเสียงที่หมุนมือมาตั้งใกล้กับบ้านของประชาชน ทั้งที่ในความเป็นจริงหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง จะมีเจ้าหน้าที่มาหมุนหวอเสียงเตือนภัยใกล้ๆ บ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้หรือไม่ จึงอยากจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการแก้ไขเรื่องเสียงเป็นอันดับแรก และหากเป็นไปได้ อยากจะให้เพิ่มหอเตือนภัยอีกสัก 1 หอ เพื่อชาวบ้านจะได้ยินได้ทั่วถึง อีกสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ คืออาคารหลบภัยหลังโรงเรียนบางเบน เรามีความเป็นห่วงลูกหลานกว่า 400 ชีวิตที่อยู่ในโรงเรียน หากเกิดเหตุการณ์กลางวันในขณะที่เด็กเรียนอยู่ รับรองได้ว่าโกลาหลแน่ เพราะที่หลบภัยอยู่ไกล อยากจะขอเน้นเรื่องเหล่านี้มากกว่า

นายสาแหละ อาจหาญ อยู่บ้านเลขที่ 5/4 ม.4 กล่าวว่าการซ้อมทุกครั้งมีปัญหาทุกครั้ง ยิ่งในช่วงที่มีลมแรง เมื่อมีการเปิดเสียงเตือน ลมจะพัดลงทะเลหรือพัดออกไปยังด้านอื่น ซึ่งปกติชาวบ้านก็ไม่ค่อยจะได้ยินอยู่แล้ว เมื่อมีลมพัดรับรองว่าไม่ได้ยินเลย นอกจากนี้ทุกครั้งที่มีข่าวเตือนว่าเกิดแผ่นดินไหวที่อาจจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ทุกครั้งชาวบ้านจะรับทราบจากพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดก่อนเช่นจากจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทางอำเภอโทรศัพท์มาบอกผู้นำหมู่บ้านให้แจ้งเตือนประชาชน แต่นั่นหมายถึงว่าชาวบ้านเตรียมตัวเสร็จก่อนแล้วจากการรับข่าวจากญาติพี่น้อง จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งแก้ไขในส่วนนี้ การแจ้งข่าวควรจะรวดเร็วกว่าที่ผ่าน ๆ มา แต่พวกเราทุกคนพร้อมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการฝึกซ้อม

ทางด้านนายกำพล จันทรชู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงกลวง บอกว่า ตนเองเข้าร่วมการซ้อมในฐานะชาวบ้านมาก่อนที่จะเป็นนายกฯ ก็ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกับทั้งสองท่านคือปัญหาด้านเสียง แต่ตนเองอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการฝึกซ้อม ได้ซักซ้อมความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของการหลบภัยว่าควรทำอย่างไร และอยากให้กำหนดเส้นทางและจุดรวมตัวกันแยกเป็นหมู่บ้าน เพราะที่ผ่านมาจะรวมตัวกันที่จุดเดียวซึ่งชาวบ้านบางคนก็อยู่ห่างจากจุดปลอดภัยมาก ทำให้ใช้ระยะเวลาและระยะทางที่ไกลมากหากเกิดเหตุการณ์จริงซึ่งไม่รู้ว่าระยะเวลาของคลื่นที่เดินทางมาถึงฝั่งช้าหรือเร็วแค่ไหน ถ้ามีการกำหนดเส้นทางทีแน่นอนตนคิดว่าน่าจะลดการสูญเสียลงได้มาก./////

ข็อมูลจาก...ข่าวพลังชนระนอง

ไม่มีความคิดเห็น: