วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ระนองประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลทางการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ)

วันที่ 1 ก.พ.54 ณ.ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง นางสาวจิตรา พรหมชุติมา รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลทางการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ) จัดโดยสำนักงานพานิชย์จังหวัดระนอง

โดยการประชุมในวันนี้ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมาตรการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ภาคใต้โดยดำเนินการตามโครงการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2553 ที่ต้องการให้เกษตรกรได้กระจายผลผลิตที่ได้ออกนอกเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และมีเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 5 ราย โดยแต่ละรายที่นำผลผลิตของตนเองกระจายออกไปจำหน่ายตามจังหวัดต่างๆจะได้รับการชดเชยค่าขนส่งตามระยะทางที่นำผลิตผลไปจำหน่าย แบ่งได้เป็นถ้าไม่เกิน 500 กม.จะได้รับค่าชดเชย กก.ละ 50 สตางค์ ระยะทาง 501-800 กม. จะได้รับค่าชดเชย กก.ละ 1 บาท ระยะทาง 801-1,000 กม. จะได้รับค่าชดเชย กก.ละ 1.50 บาท และระยะทาง 1,100 กม.จะได้รับค่าชดเชย กก.ละ 2 บาท และในภาพรวมจังหวัดระนองมีผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดเป็นผลไม้ประเภทลองกองจำนวน 39.9 ตัน กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น นครราชสีมา นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าเงินชดเชยทั้งสิ้น 98,700 บาท และได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติเห็นชอบเพื่อการเบิกจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ

สำหรับเกษตรกรที่นำลองกองไปจำหน่ายบอกว่าสามารถขายได้หมดและไม่มีปัญหาเพราะว่าลองกองของจังหวัดระนองจะมีลักษณะพิเศษคือเนื้อจะแห้งและหวานกรอบแถมได้ราคาดีเพราะส่วนใหญ่แล้วผลไม้ทางใต้จะออกช้ากว่าทางภาคตะวันออกทำให้สามารถขายเป็นผลไม้นอกฤดูกาลได้.

--------------------------------------------------

ระนองจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดระนอง ปี 2554

วันที่ 2 ก.พ.54 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดระนอง นางสาวจิตรา พรหมชุติมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดระนอง ปี 2554 เพื่อการเสนอชื่อหมู่บ้านเข้ารับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวจิตรา กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 เรื่องการจัดงานเฉลิมพระเกียรติแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และได้แจ้งให้ทางจังหวัดทราบว่าให้สรรหาหมู่บ้านที่ผ่านเกณฑ์เพื่อคัดเลือกเป็นหมู่บ้านต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดระนอง โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณและเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นการให้ประชาชนได้น้อมนำเอาปรัชญาดังกล่าวไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นให้เข้มแข็งและยั่งยืนเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป

โดยทางจังหวัดระนองได้คัดเลือกหมู่บ้านคอกช้าง หมู่ที่ 10 ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพและเข้าหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นมาทุกอย่าง อีกทั้งยังมีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีการทำบัญชีครัวเรือน การรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ การมีความสมัครสมานสามัคคี และประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนั้นมีอาชีพเป็นเกษตรกร และทางคณะกรรมการก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งเพื่อที่จะได้เสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็น “หมู่บ้านต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดระนอง” ต่อไป.

ข้อมูลจาก...พลังชน/ระนอง

ไม่มีความคิดเห็น: