วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

หวั่น "โรฮิงญา" ทะลักเข้าอันดามันหลังบังกลาเทศห้ามตั้งค่ายอพยพเพิ่ม

หลังบังกลาเทศห้ามตั้งค่ายอพยพเพิ่ม กอ.รมน.หวั่นโรฮิงญาอพยพทางเรือเข้าอันดามัน
      
       เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ก.ย.54 พลโทอรุณ สมตน รองเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2 และ คณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม ติดตามผลการปฏิบัติงานและรับฟังปัญหาอุปสรรคที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยก 1 ( กอ.รมน.ภาค 4 สย.1) ค่ายรัตนรังสรรค์จังหวัดระนอง มี พันเอก มนัส คงแป้น ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากจังหวัดชุมพร และระนอง เข้าร่วมประชุม
      
       พ.อ.มนัส กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สย. 1 รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง ต้องรองรับปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ การหลบหนีเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานต่างต่างด้าวผิดกฎหมาย เด็กไร้สัญชาติ และชุมชนต่างด้าว ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม โจรกรรม ปัญหาการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และสินค้าควบคุม ปัญหาแนวเขตทางทะเลที่ไม่ชัดเจน เป็นต้น แต่ในปี 2554 กอ.รมน.ภาค 4 สย. 1 ได้รับงบประมาณเฉพาะด้านแก้ไขปัญหายาเสพติดเท่านั้น ส่วนด้านอื่น ๆ ไม่มีงบประมาณเลย นอกจากนี้ กำลังพลไม่เพียงพอและยานพาหนะที่มีอยู่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
      
       ขณะนี้ได้รับรายงานว่า รัฐบาลบังคลาเทศ มีการทำบัตรประชาชนแบบใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับสหประชาชาติจำนวนมาก ไม่มีสิทธิด้านการศึกษาของบุตรและการจดทะเบียนบุตรเกิดใหม่ รวมทั้งออกนโยบายเข้มงวดในการสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพชาวโรฮิงญา
      
       การกวาดล้าง จับกุม ผลักดันออกนอกประเทศ และไม่อนุญาตให้ตั้งค่ายอพยพเพิ่มเติมอีก การดำเนินการดังกล่าว อาจจะส่งผลให้ชาวโรฮิงญาอพยพทางเรือมากขึ้น เพื่อหาแหล่งพักพิงและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางผ่านประเทศไทยไปยังประเทศที่สาม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ต้องประสบปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองเพิ่มขึ้นอีก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไป
      
       พ.อ.มนัส กล่าวว่า การเตรียมการของหน่วยได้ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการ 2 กอ.รมน. ประชุมประสานแผนการปฏิบัติ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการปฏิเสธการเข้าเมือง พร้อมขอสนับสนุนงบประมาณ ส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลังจดทะเบียน ควรมีการกวาดล้างแรงงานเถื่อนพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อจัดระเบียบให้ถูกต้อง
      
       ด้านพลโท อรุณ กล่าวว่า การดำเนินงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ที่ผ่านมาถือว่าดีแล้ว แต่ขอให้ไปวิเคราะห์ในพื้นที่ว่ามีภัยคุกคามอะไรบ้าง รุนแรงแค่ไหน พร้อมจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณต่อไป โดยการทำงานต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย พร้อมทั้งใช้พลังมวลชนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งในด้านการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ โดยสามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนเพื่อความมั่นคง 1374 ซึ่งมีการออนไลน์กันทั่วประเทศ โทร.จังหวัดไหนจะติดที่จังหวัดนั้น
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: