วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รัฐและเอกชน “ระนอง-ชุมพร” ร่วมผลักดันระบบลอจิสติกส์เชื่อมรางรถไฟอันดามันกับอ่าวไทย


วันที่ 11 ส.ค.53 นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยนายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายประกวด ตันโสภณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง นายธีระศักดิ์ ปางวิรุฬห์รักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร นายธงชัย ลิ้มตระกูล ประธานหอการค้าชุมพรและนายศักดิ์ชัย ศรียุทธไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพรได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อผลักดันระบบโลจิสติกส์การขนส่งระบบรางเชื่อมฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยผ่านจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร ที่โรงแรมทินิดีระนอง

นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองมีท่าเรือน้ำลึกแต่ยังใช้ขนถ่ายสินค้าได้ไม่เต็มที่เนื่องจากระบบเชื่อมต่อการขนส่งยังไม่ดี ใช้ได้เฉพาะทางรถยนต์เท่านั้นซึ่งไม่ได้รับความสะดวก ปัจจุบันแม้ว่ากรมทางหลวงได้บรรจุแผนโครงการขยายถนนเพชรเกษมเป็น 4 เลนแล้วแบ่งเป็น 4 ช่วง ในปีงบประมาณ 2554-2557

โดยในปี 2554 ได้รับงบประมาณก่อสร้างช่วงแรกประมาณ 25 กิโลเมตร จากชุมพรยังอนุสาวรีย์ จ.ป.ร. อ.กระบุรี จ.ระนอง แต่ระบบรางถือว่ายังคงมีความจำเป็น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจังหวัดระนองได้พยายามผลักดันระบบรางเข้าสู่จังหวัดระนองมานานแล้ว อันที่จริงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเคยสร้างรางรถไฟเชื่อมอ่าวไทยกับอันดามันจาก จ.ชุมพรไปยัง จ.ระนองโดยไปสิ้นสุดที่บ้านเขาฝาชี ต.บางแก้ว อ.ละอุ่น จ.ระนอง แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามจึงได้รื้อรางรถไฟกลับ ซึ่งปัจจุบันยังมีสันดินแนวรางรถไฟให้เห็นอยู่เป็นช่วงๆ

นายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จ.ชุมพร และ จ.ระนองมีศักยภาพในการสร้างระบบลอจิสติกส์ หากสำเร็จก็จะสมบูรณ์แบบเนื่องจากจังหวัดชุมพรได้วางแผนที่จะก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกไว้แล้ว ซึ่งสามารถเชื่อมไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เหมาะที่จะนำมาเสนอ ส่วนการพัฒนาระบบรางได้วางแผนไว้ 2 เฟส คือ

1.พัฒนาสถานีรถไฟชุมพรให้มีสถานีขนถ่ายสินค้า 2.ทำรางรถไฟเชื่อมไปยัง จ.ระนอง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟไทยของกระทรวงคมนาคมที่มีรายละเอียดถึงการพัฒนาระบบรางจากชุมพรถึงระนอง ระยะทางประมาณ 117 กิโลเมตร งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้จะนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่านกระทรวงมหาดไทยต่อไป

ขอบคุณ...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: